02-056-3333
ศูนย์รักษาโรค> รอบรู้เรื่องตา

ใช้คอนแทคเลนส์อย่างไรให้ปลอดภัย (พญ.ฉัตรชมพู ศรีสุวรรณวัฒนา)

ปัจจุบันนี้คนไม่ค่อยนิยมใส่แว่นกันสักเท่าไหร่ นิยมใส่คอนแทคเลนส์ ด้วยหลายเหตุผล เช่น สะดวกสบายดี เพื่อความสวยงาม หลายคนอยากจะตาโต อยากจะสวยขึ้นก็ไปใส่บิ๊กอาย หรือบางทีที่ไม่มีเวลาก็ใส่คอนแทคเลนส์นอนข้ามคืน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรงกับดวงตาตามมาเยอะ
 
พ.ญ.ฉัตรชมพู ศรีสุวรรณวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระจกตา การผ่าตัดแก้ไขสายตาจาก รพ.จักษุ รัตนิน จะมาแนะนำการใช้คอนแทคเลนส์ที่ถูกวิธี ในปัจจุบันหลายคนจะไปซื้อคอนแทคเลนส์ด้วยตัวเอง บางทีเคยมาหาคุณหมอ ไม่รู้ค่าสายตา หรือรู้ค่าสายตาจากแว่นที่ใส่ ก็มักจะไปหาซื้อคอนแทคเลนส์ทั่วไปตามท้องตลาด จริง ๆ แล้วถ้าเป็นการใส่คอนแทคเลนส์ครั้งแรกแนะนำว่าควรมาพบจักษุแพทย์ก่อน

1. ควรดูค่าสายตาเพราะตามร้านแว่นตาจะใช้เครื่องวัดสายตาอัตโนมัติ

ซึ่งปกติค่ามันอาจจะเกินจริงหน่อยหนึ่ง ถ้าตามโรงพยาบาลจะใช้คนวัดสายตา ซึ่งเรียกว่านักทัศนมาตร ถ้าเป็นนักทัศนมาตรวัดให้ค่าสายตามักจะมีความแม่นยำมากกว่า หรือแม้แต่ทางร้านแว่นตา ถ้าเขามีผู้ชำนาญคอยปรับลดค่าให้ก็ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องหลักที่หนึ่งก็คือ เราจะต้องเริ่มต้นจากค่าสายตาที่ถูกต้อง อาจจะต้องมีการปรับค่าหากกรณีที่ค่าสายตาเกิน 400 เบอร์แว่นกับเบอร์คอนแทคเลนส์จะเป็นคนละเบอร์กัน

2. สภาพตาของคนไข้ว่าพร้อมที่จะใส่คอนแทคเลนส์หรือไม่

หากมีภูมิแพ้ที่ดวงตาอยู่พอใส่ถ้าแพ้อยู่แล้วใส่จะไม่สบายตา และเรื่องสำคัญที่สุดคือคนไข้มีอาการตาแห้งหรือไม่ มีปริมาณน้ำตาเพียงพอไหม ควรจะเช็คปริมาณน้ำตา อีกเรื่อง คือ ความพอดีเพราะว่าใส่คอนแทคเลนส์ก็เหมือนเสื้อผ้า เราอยากใส่เสื้อผ้าพอดีตัวไม่แน่นเกินไปหลวมเกินไป อันนี้มัน เรียกว่า ความโค้งคอนแทคเลนส์ต้องพอดีกับความโค้งของกระจกตา

3. ออกซิเจนในดวงตากับคอนแทคเลนส์

กระจกตาหรือตาดำ เซลล์กระจกตาต้องการออกซิเจนตลอดเวลา เวลาที่เราใส่คอนแทคเลนส์ปิดบนตาเรา กระจกตาเราก็จะได้รับอ๊อกซิเจนน้อยลง แต่ว่าคอนแทคเลนส์ที่ดีก็ควรจะมีเปอร์เซ็นต์ที่อ๊อกซิเจนผ่านสูง เพราะออกซิเจนในอากาศจะต้องซึมผ่านคอนแทคเลนส์แล้วมาถึงตาเรา
 
หากเราไปเจอคอนแทคเลนส์ที่อาจจะไม่ได้มาตรฐาน แล้วไม่สามารถทำให้อ๊อกซิเจนซึมผ่านได้มากนักผลเสียกับดวงตา คือ เซลล์กระจกตาจะขาดอ๊อกซิเจนได้ อ๊อกซิเจนไม่พอ เรื่องหลักจะเป็นเรื่องของ มีการอักเสบง่ายหรือมีเส้นเลือดฝอยเข้ามาในกระจกตา แต่ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยพบในลักษณะนั้น เพราะว่าคอนแทคเลนส์มักจะได้มาตรฐานพอสมควร
 
พ.ญ.ฉัตรชมพู แนะนำว่า การใส่คอนเทคเลนส์นอนค้างคืน หรือใส่นานกว่านั้น จะเกิดเรื่องขาดอ๊ออกซิเจนเรื่องหนึ่งแต่เรื่องสำคัญกว่าก็คือเพิ่มโอกาสติดเชื้อ เพราะคอนแทคเลนส์จะสะอาดมากไม่มีเชื้อโรคเมื่อตอนที่เราแช่เย็นในน้ำยา แต่พอเราเอามาใส่บนตาก็จะมีแบคทีเรียจากอากาศ จากผิวหนังเข้าไปเกาะ เพราะฉะนั้นยิ่งเพิ่มระยะเวลาการที่เลนส์อยู่ในตานานเท่าไหร่โอกาสที่จะติดเชื้อก็มากขึ้นเท่านั้น
 
แนะนำว่าระยะเวลาที่เราใส่คอนแทคเลนส์ ตามมาตรฐานส่วนใหญ่ประมาณ 8-10 ชั่วโมง แต่ในปัจจุบันนี้ต้องดูตามสไตล์การใช้ชีวิตมากกว่า หากออกจากบ้านเช้ากลับถึงบานดึก จริงๆ ที่ดีที่สุดก็คือว่าเริ่มต้นจากมาตรวจกับจักษุแพทย์ เมื่อใส่คอนแทคเลนส์แล้ว กลับถึงบ้านให้ถอดออก แล้วก็ให้เวลาหยุดกับตาบ้าง อาจจะเป็น เสาร์-อาทิตย์ที่เรามาใส่แว่นตาแทน วิธีการดูแลตัวเองเมื่อสวมใส่คอนแทคเลนส์แนะนำให้มีการหยอดน้ำตาเทียม เพื่อป้องกันการแห้ง แล้วก็ไม่ควรใส่นอนหลับค้างคืน หรือใส่นานกว่านั้น ควรจะใชัระยะเวลากับคอนแทคเลนส์ที่อยู่บนตาเราเนี่ยให้น้อยลงหน่อย เพื่อเพิ่มโอกาสได้อ๊อกซิเจนให้กับดวงตา 
บทความโดย : พญ. ฉัตรชมพู ศรีสุวรรณวัฒนา