02-056-3333
บริการสำหรับผู้ป่วย> ร้านมุมมอง แว่นตาและคอนแทคเลนส์> เกร็ดความรู้

แว่นตา ชนิดเลนส์ หลักการเลือกใช้ และประโยชน์ต่อสายตา

การใส่แว่นตาหรือแว่นสายตา เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกที่ช่วยให้ผู้มีปัญหาสายตากลับมามองเห็นภาพต่างๆได้ชัดเจนขึ้น ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันมีการผลิตเลนส์แว่นตาออกมาให้เลือกมากมายหลายชนิด ดังนั้นผู้ที่มีสายตาผิดปกติควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแว่นตา เลนส์ประเภทต่างๆ ประโยชน์จากแว่นตา รวมถึงการดูแลรักษาแว่นตาก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อ เพื่อให้ได้แว่นตาที่เหมาะสม ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ และคงสภาพดีตลอดอายุการใช้งาน

เลนส์แว่นตามีเลนส์ 2 ชนิด คือ
 
Ø เลนส์ชั้นเดียว (Single Vision) เป็นเลนส์ที่ใช้แก้ปัญหาสายตาระยะใดระยะหนึ่ง เช่น สายตาสั้น หรือ สายตายาว

Ø เลนส์มัลติโฟคอล (Multifocal)เลนส์ชนิดนี้จะเป็นเลนส์แว่นตาใช้เพื่อปรับระดับสายตาของผู้ที่มีปัญหาสายตายาวตามอายุ ซึ่งมองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ได้ไม่ชัด ช่วยให้ผู้ใช้สามารถมองเห็นได้หลายระยะ ทั้งระยะใกล้และระยะไกล โดยเลนส์ด้านบนจะช่วยให้มองเห็นภาพระยะไกลได้ชัดเจนขึ้น และเลนส์ด้านล่างจะช่วยในการมองวัตถุใกล้ๆ เช่น การอ่านหนังสือ หรือการเย็บผ้า

โดยแบ่งเป็นเลนส์หลายประเภทที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไป ดังนี้   

Ø เลนส์สองชั้น (Bifocals) ประกอบด้วยส่วนที่สามารถมองในระยะใกล้ได้ ซึ่งอยู่ด้านล่างของเลนส์ และส่วนที่สามารถมองในระยะไกลได้ ซึ่งอยู่ด้านบนของเลนส์ นอกจากนี้เราสามารถเปลี่ยนให้มองใกล้อยู่ด้านบน สำหรับผู้ที่ต้องใช้สายตามองวัตถุในระยะใกล้ หรือระยะกลางในมุมสูงด้วย

Ø เลนส์สามชั้น (Trifocals) เป็นเลนส์ที่มีสามระยะในเลนส์เดียว คือ ระยะไกล ระยะกลาง และระยะใกล้

เลนส์ทั้ง 2 ชนิดคนใช้จะเห็นภาพกระโดดเวลามองข้ามรอยต่อของเลนส์

Ø เลนส์โปรเกรสซีฟ (Progressive) มีคุณสมบัติเหนือกว่าเลนส์สองชั้นและเลนส์สามชั้น โดยผู้ใช้สามารถมองเห็นวัตถุจากระยะไกลถึงระยะใกล้ได้อย่างต่อเนื่องไร้รอยต่อ ข้อเสียของเลนส์ชนิดนี้ คือ ขนาดของเลนส์ที่ใช้ในการมองใกล้จะมีขนาดเล็ก ไม่เหมาะกับคนที่ชอบเหลือบตาในการมองบริเวณด้านข้างโดยไม่หันศีรษะ หรือการกรอกตามองด้วยความรวดเร็ว เลนส์โปรเกรสซีฟอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตา และเวียนศีรษะขณะสวมใส่ได้ในระยะแรก
 
เมื่อไรควรใส่แว่นตา 

หากพบว่าการมองเห็นเลือนราง มองวัตถุต่างๆ ไม่ชัดเจนอย่างที่เคย มีอาการปวดตา หรือปวดศีรษะขณะอ่านหนังสือ เย็บผ้า ขับรถกลางคืนมองเห็นไม่ชัด หรือทำกิจกรรมอื่นๆ แสดงว่าอาจเริ่มมีปัญหาด้านสายตา ควรไปพบจักษุแพทย์และนักทัศนมาตรเพื่อตรวจวัดสายตาและประกอบแว่น เมื่อใส่แว่นตาแล้วการมองเห็นดีขึ้นก็ควรใส่แว่นตาไปตลอด
 
วัสดุที่ใช้ทำเลนส์แว่นตา

แต่เดิมวัสดุที่ใช้ทำแว่นตาเป็นเลนส์แก้ว แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้พลาสติกซึ่งมีน้ำหนักเบา ยืดหยุ่นได้ แตกหักยาก และสามารถป้องกันรังสียูวีได้ด้วย นอกจากนี้วัสดุที่ใช้ทำเลนส์ยังมีคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อให้เลือกตามความเหมาะสมของการใช้งาน ดังนี้

1. LENSพลาสติกธรรมดา หรือ CR39 (Columbia Resin 39) ผลิตโดย PPG INDUSTRY ตั้งแต่ปี 1947 เป็นเลนส์ซึ่งมีค่าดัชนีการหักเหแสงค่อนข้างต่ำ ทำให้เลนส์จะหนาและหนักกว่าอีก 2 ชนิด ที่จะกล่าวต่อแต่มีราคาถูกที่สุดของเลนส์ทุกชนิด

2. พลาสติกไฮอินเด็กซ์ (High-Index Plastic) เหมาะสำหรับผู้ที่มีสายตาสั้นหรือยาวมากๆ และจำเป็นต้องตัดแว่นตา เพราะเลนส์ชนิดนี้มีคุณสมบัติบางและเบา ลดปัญหาเลนส์หนาจนสวมใส่แล้วรู้สึกไม่สะดวกสบาย

3. โพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate) เลนส์ชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่เล่นกีฬา และผู้ที่ทำแว่นตาหักหรือทำเลนส์แตกบ่อยๆ เช่น เด็ก เนื่องจากเป็นเลนส์ที่ทนทานต่อแรงกระแทกและรอยขีดข่วน นอกจากตัวเลนส์ยังสามารถป้องกันรังสียูวีได้อีกด้วย

4. Trivex ผลิตโดย PPGในปี 2001 มีลักษณะพิเศษ คือ มีการกระจายแสงหรือแสงแตกน้อยที่สุด และเลนส์ที่มีแสงแตกมากที่สุด คือ High-Indexและ Polycarbonate เลนส์นี้มีแสงแตกมาก ก็มักจะมองเห็นหลอดไฟมีสีรุ้งรอบๆโดยเฉพาะบริเวณขอบเลนส์แว่นตา

นอกจากจะเลือกสารที่ผลิตเลนส์แล้ว เทคนิคการฝนเลนส์ เพื่อจะทำให้เลนส์บางที่สุด คือ

การฝนแบบ Aspheric คือ เป็นเทคนิคการฝนเลนส์พิเศษเพื่อทำให้มีองศาความโค้งหลายระดับ จึงมีผิวโค้งแบนและบางกว่าเลนส์ทั่วไป ทำให้มีพื้นที่ด้านหน้าของเลนส์มากขึ้น นอกจากจะทำให้เลนส์บาง เบา บนใบหน้าของคุณ  
 
ยังมีเลนส์ที่มีลักษณะพิเศษ คือ
 
A. โฟโตโครมิก (Photochromic)เป็นเลนส์ที่มีคุณสมบัติเปลี่ยนสีได้ และสามารถป้องกันรังสียูวีได้ 100เปอร์เซ็นต์ โดยเลนส์จะทำปฏิกิริยาต่อแสงยูวี ทำให้เลนส์เปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้นเมื่ออยู่กลางแจ้ง และจะกลับมาใสเหมือนเดิมเมื่ออยู่ในที่ร่ม จึงไม่จำเป็นต้องใส่แว่นตากันแดด แต่เลนส์จะไม่เปลี่ยนสีขณะอยู่ในรถ เนื่องจากกระจกที่มีแสงแดดของรถส่วนใหญ่ลดแสงแดดไปแล้ว
 
B. โพลาไรซ์ (Polarized)เป็นเลนส์ที่มีคุณสมบัติช่วยลดแสงจ้าที่สะท้อนจากพื้นผิวได้ เลนส์ชนิดนี้จึงเหมาะสำหรับการเล่นกีฬาทางน้ำเพราะลดการสะท้อนแสงของผิวน้ำอย่างดี
 
C.  Anti Scratch Coating เลนส์ส่วนมากมีผิวที่ค่อนข้างอ่อน และเกิดการขีดข่วนได้ง่ายเมื่อเทียบกับเลนส์ที่ทำด้วยกระจก ดังนั้นเพื่อคงทนถาวรของเลนส์แว่นตาแล้ว แนะนำทำการเคลือบกันรอยขีดข่วนทุกราย
 
D. Anti Reflective Coating (เคลือบกันแสงสะท้อน)เลนส์ที่เป็น High Index จะมีค่าการสะท้อนแสงแล้ว ทำให้แสงผ่านมาที่ตาน้อยลงทำให้ตาพล่าจึงต้องมี Anti Reflective Coating
 
E. UV Block Treated Lensเป็นที่ทราบกันแสงUV ทำให้เกิดต้อลม,ต้อกระจก และจอประสาทตาเสื่อม จึงควรป้องกันแสง UV ตั้งแต่เด็ก High Index เลนส์ป้องกันแสง UV ได้เกือบ 100% แต่ Plastic CR39 ป้องกันแสง UVได้ไม่ครอบคลุม จึงต้องมี UV Coating เสมอ
 
F. เลนส์ย้อมสี  สามารถเลือกสีของเลนส์ได้ เช่น ใช้เลนส์สีเหลืองเพื่อเพิ่มความชัดเจน (Contract)หรือจะเลือกเลนส์เทา(Gray)สำหรับแว่นกันแดด ซึ่งจะทำให้สีที่เรามองไม่เพี้ยนไปจากเดิม หรือการใส่สีนิดหน่อยไปบนเลนส์แว่นตาเพื่อช่วยให้สบายตาได้ดี
 
G. Mirror Coating  เป็นการเคลือบกระจกเพื่อเสริมภาพลักษณ์เท่านั้น และซ่อนบริเวณรอบๆดวงตาไม่ให้ใครมองเห็น มีสีSilver Gold และBlue
 
ต้องตรวจวัดสายตาบ่อยขนาดไหน?

ผู้ที่สวมแว่นตาควรไปพบจักษุแพทย์และตรวจสุขภาพวัดสายตาใหม่ทุกๆปีเพื่อให้แน่ใจว่าแว่นตาที่ใส่อยู่เหมาะสมกับค่าสายตาในปัจจุบันโดยเฉพาะกลุ่มอายุ 8-16 ปี และ 40-55 ปีที่สายตาเปลี่ยนบ่อยการวัดสายตาโดยจักษุแพทย์หรือทัศนมาตรก็จะรวมไปถึงการตรวจสุขภาพตาทั่วๆไป เพื่อตรวจหาโรคตา เช่น ต้อเนื้อ ต้อกระจก ต้อหิน หรือเบาหวานขึ้นตา

นอกจากนี้ ควรตรวจสุขภาพเป็นระยะ เพื่อป้องกันโรคและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับดวงตา เช่น ต้อ เบาหวานขึ้นตา เนื่องจากสัญญาณของโรคอาจปรากฏบนดวงตา รอบดวงตา หรือเกิดขึ้นในรูปของปัญหาการมองเห็นได้ ก่อนอาการของโรคจะแสดงออกมาอย่างชัดเจน
 
แว่นตาสามารถป้องกันแสงสีฟ้าได้หรือไม่ ?

แสงสีฟ้าเป็นแสงที่มีอยู่ในอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต ซึ่งผู้ที่ใช้สายตาจ้องมองหน้าจอนานๆ อาจรู้สึกปวดตา ตาแห้ง กะพริบตาน้อยลง หรือมีอาการตาล้าได้ แสงสีฟ้าอาจมีผลต่อระบบนาฬิกาชีวิตของร่างกายมนุษย์ โดยช่วยกระตุ้นให้ตื่นในตอนเช้า แต่การได้รับแสงนี้มากเกินไปในเวลากลางคืน อาจส่งผลให้นอนหลับได้ยากขึ้น
 
แม้ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าในการผลิตเลนส์แว่นตาชนิดต่างๆ แต่ยังไม่มีงานวิจัยที่สามารถยืนยันว่ามีแว่น Blockสี blueชนิดใดสามารถป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อม เมื่อยตาเกิดจากการใช้Computer หรือมือถือ มีแต่เพียงรายงานที่ว่า ผู้ที่ใส่แว่นตาป้องกันรังสีคลื่นสั้นเป็นเวลา 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอนต่อเนื่องนาน2 สัปดาห์ มีระดับสารเมลาโทนิน (Melatonin) เพิ่มมากขึ้นถึง 58 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสารนี้เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมเหนือสมอง (Pineal Gland) และมีส่วนช่วยในการนอนหลับ โดยทำให้นอนหลับได้เร็วและสบายขึ้น
 
แว่นตาช่วยรักษาสายตาที่ผิดปกติให้ดีขึ้นได้หรือไม่ ?

การใส่แว่นตาช่วยให้ผู้มีปัญหาสายตาผิดปกติมองเห็นได้ชัดขึ้นเท่านั้น แต่ไม่สามารถช่วยรักษาให้ค่าสายตากลับมาเป็นปกติตามเดิมได้ ส่วนการใส่แว่นตาที่ไม่ตรงกับค่าสายตา แม้ไม่ทำให้สายตาแย่ลง แต่จะทำให้มองเห็นภาพหรือวัตถุได้ไม่ชัดการใส่แว่นตาแบบใส่ๆถอดๆก็ไม่ทำให้สายตาเสีย
 
นอกจากนี้การบริหารดวงตาหรือการรับประทานยาต่างๆ ก็ไม่สามารถช่วยให้หายจากภาวะสายตาสั้นหรือยาวได้ และสายตาคนเราย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงควรถนอมสายตาด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจทำให้สายตามีปัญหาก่อนเวลาอันควร
 
วิธีดูแลรักษาแว่นตา  

· ล้างทำความสะอาดแว่นตาอยู่เสมอด้วยน้ำเปล่าและสบู่ที่ไม่มีไขมัน เช่น น้ำยาล้างจานแล้วซับด้วยผ้าที่ไม่มีขนเพื่อทำให้แว่นตาใสอยู่เสมอ และการล้างฝุ่นและคราบต่างๆ บนแว่นตาและเลนส์ เพื่อทำให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นขณะสวมใส่

· เก็บแว่นตาให้ห่างจากความชื้น หรือถอดเก็บไว้ในกล่องหากไม่ได้ใส่แว่นตา

· หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงเกิดการปะทะหรือได้รับแรงกระแทก เช่น การเล่นกีฬาบางชนิด หรือถอดเก็บแว่นตาหากต้องทำกิจกรรมดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้แว่นตาชำรุดเสียหาย หรือเกิดรอยขีดข่วนบนเลนส์  

·  หลีกเลี่ยงความร้อน จะทำให้กรอบ(พลาสติก)และเลนส์Coated เสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น