02-056-3333
บริการสำหรับผู้ป่วย> ร้านมุมมอง แว่นตาและคอนแทคเลนส์> เกร็ดความรู้

ตาแห้ง

ตาแห้ง (Dry Eyes)

น้ำตา” ทำหน้าที่หล่อลื่นไม่ให้เยื่อบุตาแห้ง ลดการเสียดสีขณะกระพริบตา ชะล้างฝุ่นละอองและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองให้กับดวงตา
ระบบทางระบายของน้ำตา”ในสภาวะปกติน้ำตาที่ผลิตออกมาหล่อลื่นดวงตาจะไหลระบายออกไปทางท่อน้ำตาเล็กๆ ที่มีอยู่บริเวณหัวตา ตรงรอบเปลือกตาบนและขอบเปลือกตาล่างด้านใน โดย 2 รูนี้จะรวมกันเป็นท่อเดียวเพื่อเชื่อมต่อกับถุงน้ำตาผ่านลงมาภายในกระดูกโหนกแก้มจนมาเปิดภายในจมูกและไหลผ่านลงคอตามลำดับ   
หากระบบการสร้างและระบบทางระบายของน้ำตาทำงานผิดปกติก็จะส่งผลให้เกิดความไม่สบายตาต่างๆขึ้นได้ เช่น เคืองตา แสบตา น้ำตาไหลคลอ และที่สำคัญที่สุดคงจะหนีไม่พ้นในเรื่องของ“อาการตาแห้ง”
อาการทางตาที่เกิดจากความผิดปกติของระบบต่อมน้ำตาที่พบได้บ่อยมี 2 ลักษณะ คือ
  1. มีน้ำตาน้อยเกินไป ได้แก่ ภาวะอาการตาแห้ง พบได้ร้อยละ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยที่มีความผิดปกติด้านระบบต่อมน้ำตา
  2. มีน้ำตามากเกินไป มีสาเหตุมาจากภาวะท่อน้ำตาอุดตัน (nasolacrimal duct obstruction)
อาการตาแห้งนั้นได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่มักจะไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน ส่วนใหญ่พบจากสาเหตุร่วมกันดังนี้
  1. ความเสื่อมของต่อมน้ำตาตามวัย ซึ่งจะทำให้การสร้างน้ำตาค่อยๆ ลดลงเอง
  2. ความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะในเพศหญิงในวัยหลังหมดประจำเดือน
  3. การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยาลดสิว เป็นต้น
  4. การผ่าตัดดวงตาหรือการทำเลสิก
  5. การใส่คอนแทคเลนส์
  6. สภาพแวดล้อมที่มีแต่มลพิษ ทำให้เกิดการอักเสบดวงตาและเกิดอาการตาแห้งตามมา
  7. พฤติกรรมการใช้ชีวิตผู้คนในปัจจุบัน เช่น การจ้องคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานๆ
  8. ผู้ป่วยที่เป็นโรค Sjogren’s syndromeเป็นโรคทางระบบภูมิคุ้มกันแบบเรื้อรังที่ทำให้เกิดการทำลายต่อมที่ทำหน้าที่สร้างความชุ่มชื้นให้กับดวงตาและปาก
อาการของผู้ป่วยที่มีภาวะตาแห้ง
  1. คันเคืองตา เหมือนมีทรายหรือฝุ่นอยู่ในตา
  2. บริเวณตาขาวมีสีแดงจากการอักเสบ
  3. ขอบเปลือกตาแดง
  4. แพ้แสง แพ้ลม
  5. ตามัวเป็นบางขณะ
  6. รู้สึกไม่สบายตาตอนตื่นนอน
ปล่อยไว้ในระยะยาวอาการเคืองตาจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุตาและกระจกตา ท้ายที่สุดอาจนำมาสู่การเกิดแผลที่กระจกตาได้นั่นเอง  อาการตาแห้งอาจเป็นได้ตลอดทั้งวันทั้งคืน ผลที่ตามมาคือ ประสิทธิภาพและความอดทนในการใช้สายตาลดลง
วิธีการดูแลรักษาอาการตาแห้ง
  1. หลีกเลี่ยงการปะทะกับแสงแดดและลมโดยตรง เพื่อลดการระเหยของน้ำตาให้น้อยลง
  2. สวมแว่นกันลมและกันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้ง ไม่อยู่ในที่ที่มีฝุ่นเยอะๆ และลมพัดแรงๆ หรือแม้กระทั่งการนั่งให้แอร์เป่าใส่ดวงตาโดยตรง
  3. ใช้กรอบแว่นตาชนิดพิเศษ สำหรับผู้ที่ตาแห้งมากควรใช้แว่นที่มีแผ่นคลุมปิดกั้นลมด้านข้างซึ่งจะช่วยครอบทั้งดวงตาได้
  4. กระพริบตาถี่ๆ โดยเฉพาะเวลาใช้คอมพิวเตอร์, มือถือ โดยปกติคนเราจะกระพริบตานาทีละ 20-22 ครั้ง โดยทุกครั้งที่กระพริบตา เปลือกตาจะรีดผิวน้ำตาให้มาฉาบผิวกระจกตา แต่ถ้าในขณะที่จ้องหรือเพ่งมอง เราจะลืมตาค้างไว้นานกว่าปกติ ทำให้กระพริบตา 8-10 ครั้งต่อนาที หรือน้อยกว่านั้น น้ำตาก็จะระเหยออกไปมาก ดังนั้นระหว่างการใช้คอมพิวเตอร์อาจหลับตาชั่วขณะ หรือลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง
  5. ใส่คอนแทคเลนส์ให้น้อยลง หากพบว่าตาแห้งมากควรงดใส่คอนแทคเลนส์
  6. ประคบน้ำอุ่น (warm compression) อุณหภูมิประมาณ 41-43 องศาเซลเซียส เป็นประจำเช้า-เย็น ครั้งละ 10-15 นาที
  7. เสริมด้วยการรับประทานอาหารจำพวกปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อเพิ่มคุณภาพของน้ำตา
  8. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสามารถผลิตน้ำตาได้เต็มที่
  9. ใช้น้ำตาเทียมเพื่อหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นกับผู้ที่ตาแห้ง น้ำตาเทียม มี 2 ชนิด คือ
    • น้ำตาเทียมชนิดน้ำ มีให้เลือก 2 ชนิด
      • ชนิดเป็นขวด ซึ่งจะมีส่วนผสมของยากันบูด เปิดขวดแล้วใช้ได้ประมาณ 1 เดือน และไม่ควรใช้เกินวันละ 6 ครั้ง เพราะยากันบูดอาจทำให้ตาแดง
      • ชนิดเป็นกระเปราะ ซึ่งไม่มีส่วนผสมของยากันบูด จึงใช้ได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมงหลังจากเปิดกระเปราะ เหมาะสำหรับคนที่ตาแห้งมากๆเพราะอาจใช้ใส่ทุกชั่วโมงก็ไม่ทำให้ตาแดง
    • น้ำตาเทียมชนิดเจลและขี้ผึ้ง มีลักษณะเหนียวหนืด หล่อลื่นและคงความชุ่มชื้นได้นานกว่าชนิดน้ำ แต่ควรใช้ป้ายตาแต่น้อยและควรใช้ก่อนนอน
ขอบคุณข้อมูลจาก :  บริษัทนำศิลป์ไทย