02-056-3333
ศูนย์รักษาโรค> รอบรู้เรื่องตา

โรคภูมิแพ้ของดวงตา : Ocular Allergy

 

โรคภูมิแพ้ของดวงตา Ocular Allergy

 
โรคของภูมิแพ้ทั้งหมด พบได้ประมาณ 30 - 50% ของประชากร และในกลุ่มนี้ก็พบว่า มี 40-60%จะมีอาการทางตา ซึ่งก็ถือว่าเป็นโรคที่พบบ่อย โรคภูมิแพ้ของดวงตา แบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม คือ
 
1.  Seasonal and perennial allergic conjunctivitis (SAC and PAC)
2.  Vernal keratoconjunctivitis (VKC)
3.  Atopic keratoconjunctivitis (AKC)
4.  Giant papillary conjunctivitis (GPC)
5.  Contact allergic conjunctivitis

1. Seasonal and Perennial Allergic Conjunctivitis (SAC and PAC)

เยื่อบุตา เป็นเยื่อบางๆ ที่คลุมผิวของดวงตาทั้งหมด ยกเว้นบริเวณกระจกตา
หรือตาดำ เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ จะมีทั้งเป็นตามฤดูกาล (seasonal) หรือ เป็นแบบต่อเนื่อง (perennial)ซึ่งภูมิแพ้ที่เป็นแบบต่อเนื่องจะพบได้น้อยกว่า แต่รวมๆกันแล้วถือเป็นโรคภูมิแพ้ทางตาที่พบได้บ่อยที่สุด มักจะมีอาการภูมิแพ้ของเยื่อบุโพรงจมูกร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักเกิดจากแพ้ขนสัตว์ ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ รา หรือสปอร์ของรา
มีอาการคัน แสบร้อน น้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ แต่สำหรับคนที่มีอาการน้อยๆ อาจมีแค่อาการตาแดงบริเวณเยื่อบุตา หรือมีอาการบวมเป็นลักษณะคล้ายวุ้นของเยื่อบุตา ซึ่งการบวมของเยื่อบุตาดังกล่าวนี้ หากมีอาการมากอาจทำให้บริเวณขอบของกระจกตาบริเวณใกล้เคียงบางลงได้ 

ข้อควรปฏิบัติ

1. หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ เช่น ฝุ่น หรือ ละอองเกสรดอกไม้ รวมถึงหลีกเลี่ยงการเผชิญกับลมที่พัดแรง เพราะลมอาจพัดพาฝุ่น หรือ ละอองเกสรดอกไม้ มากระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้
2. ใส่แว่นกันลมที่ปิดด้านหน้าและด้านข้าง เพื่อป้องกันดวงตาไม่ ให้โดนสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้เกิดภูมิแพ้ได้
3. ล้างมือ อาบน้ำ และเปลี่ยนเสื้อผ้า เมื่อกลับเข้าที่พักอาศัยแล้วเสมอ
4. ไม่ใช้พรมในบ้าน  เพราะพรมจะกักเก็บฝุ่นไว้ในปริมาณมาก
5. เลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยงที่มีขน เช่น แมว สุนัข
6. หลีกเลี่ยงการขยี้ตา เพราะการขยี่ตาจะทำให้เกิดการอักเสบที่รุนแรงมากขึ้น และยิ่งทำให้เกิดอาการคันมากขึ้นเช่นกัน

การรักษาด้วยยา

1. ยาหยอดตาประเภทแอนตี้ฮิสตามีน จะได้ผลดีในผู้ที่เป็นภูมิแพ้น้อยๆ และไม่รุนแรง โดยการหยอดตาวันละ 3 - 4 ครั้งแต่พบว่าหากผู้ป่วยที่มีโรคภูมิแพ้อื่นๆร่วมด้วย อาจจะได้รับยากลุ่มแอนตี้ฮิสตามีนไปรับประทาน ซึ่งอาจทำให้อาการทางภูมิแพ้เยื่อบุตาแย่ลงได้ เนื่องจากทำให้ไปลดการสร้างน้ำตา เป็นผลให้ตาแห้งและเคืองมากขึ้น ทั้งนี้ การรักษาด้วยวิธีอื่นนอกจากการใช้ยาจะช่วยเสริมการรักษาด้วยยาได้  ได้แก่ การหยอดน้ำตาเทียมเย็นๆ ซึ่งจะช่วยเจือจางสารก่อการแพ้ และการประคบเย็นก็จะช่วยลดการบวมได้

2. ยาหยอดตาประเภทป้องกันปฏิกิริยาภูมิแพ้ ซึ่งมีตัวยาที่ชื่อ "ไดโซเดียมโกรโมไกลเดต" และ "โลด็อกซาไมด์" เป็นส่วนประกอบ ตัวยาทั้งสองนี้จะออกฤทธิ์ควบคุม Mast Cell ที่อยู่ในเลือดไม่ให้แตกตัว เพื่อไม่ให้เกิดอาการคัน แพทย์จะพิจารณาใช้ในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการภูมิแพ้ โดยให้หยอดยาประเภทนี้ วันละ 3-4 ครั้ง ในผู้ป่วยเด็กอาจหยอดได้เพียงวันละ 3 ครั้ง คือ ก่อนไปโรงเรียน เมื่อกลับจากโรงเรียนถึงบ้าน และก่อนนอน
หากผู้ป่วยได้รับสิ่งที่แพ้ในปริมาณไม่มากนัก ยาหยอดประเภทนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการได้ ในทางกลับกันหากได้รับสิ่งที่แพ้เข้าตาในปริมาณมาก ยาจะป้องกันได้ไม่หมด ผู้ป่วยจะมีอาการคันกำเริบขึ้นอีก ในกรณีนี้แพทย์จะสั่งยาประเภทสเตียรอยด์ให้หยอดตาเสริมเพื่อบรรเทาอาการคัน
ข้อดีของยาประเภทที่สองนี้ คือ สามารถใช้ได้ในระยะยาว โดยไม่มีผลข้างเคียงและไม่มีอันตรายต่อดวงตา นอกจากกรณีที่แพ้ยา เมื่อหยอดแล้วตาจะแดงและเคืองตามากขึ้นควรหยุดใช้ทันทีและควรพบจักษุแพทย์

3. ยาหยอดตาประเภทสเตียรอยด์ เป็นยาหยอดตาที่ได้ผลการรักษาดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ เนื่องจาก ใช้แล้วตาจะหายจากการคันและแดงเร็วขึ้น แต่มีข้อเสียคือถ้าใช้บ่อยๆ ติดต่อกันในระยะยาว อาจทำให้เกิดความดันในลูกตาสูงจนกลายเป็นต้อหินซึ่งจะทำให้ตาบอดได้ ดังนั้น การใช้ยาประเภทนี้แพทย์จะพิจารณาใช้เป็นครั้งคราว และใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยจำเป็นต้องวัดความดันลูกตาทุกครั้งก่อนสั่งจ่ายยา เมื่ออาการทุเลาลงต้องรีบลดความถี่ในการหยอดยาลง จนกระทั่งหยุดใช้ยาเมื่อไม่มีอาการแล้ว


ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีอาการของโรคหอบหืด แพทย์อาจสั่งยาแอนตี้ฮิสตามีนชนิดรับประทานให้ร่วมไปด้วยในขณะที่ผู้ป่วยกำลังมีอาการคันตามาก ส่วนมากให้รับประทานยาเฉพาะมื้อค่ำก่อนเข้านอน เพราะยารับประทานประเภทนี้มักมีผลข้างเคียง คือ ทำให้ง่วงนอน

2Vernal Keratoconjunctivitis (VKC)

เป็นโรคของการอักเสบของเยื่อบุตาเรื้อรังที่มักพบในกลุ่มของผู้ป่วยที่มีผื่นภูมิแพ้ หอบหืด โดยอาการมักจะพบก่อนเด็กอายุ 10 ปี และมักจะเป็นอยู่นาน 2-10 ปี และจะดีขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ในช่วงอายุน้อยๆจะพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง
แต่ในกลุ่มเด็กโตจะพบได้พอ ๆ กันมีอาการคันมาก สู้แสงไม่ได้ หนังตาตก รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา มีขี้ตาเหนียว และรู้สึกอยากหลับตาแน่นในลักษณะบีบตา จะตรวจพบอาการแสดงอยู่ที่เยื่อบุตาและกระจกตา และจะพบตุ่มขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร บริเวณขอบกระจกตาดำและด้านในของเปลือกตา ซึ่งจะมีเมือกติดอยู่ด้วยอาจจะมีเส้นเลือดบนผิวกระจกตา ผิวกระจกตาถลอกจึงมีเมือกมาติด มักจะเป็นบริเวณที่ตรงกับขอบบนของรูม่านตา ทำให้ตามัวลงได้
การรักษาเช่นเดียวกับภูมิแพ้ชนิดอื่น ๆ คือการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดภูมิแพ้สำหรับการรักษาทางยา เช่นเดียวกับกลุ่มเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ชนิด SAC และ PAC ยาที่ได้ผลดีสำหรับรักษา VKC ได้แก่ การหยอด Cyclosporine A

3. Atopic keratoconjunctivitis (AKC)

ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยที่อายุ 20-50 ปีขึ้นไป มีเยื่อบุตาอักเสบ กระจกตาอักเสบ และผิวหนังบริเวณเปลือกตาอักเสบร่วมด้วย อาการส่วนใหญ่ มีอาการคัน อาจมีน้ำตาไหล ขี้ตาเหนียว ๆ ตาแดง ตามัว สู้แสงไม่ได้ เจ็บตา
อาการแสดงที่ผิวหนังบริเวณเปลือกตาจะเป็นขุย แดง บวม ถ้าเป็นมากๆ ผิวหนังที่เปลือกตาจะหนา อาจมีการดึงรั้งทำให้หลับตาไม่สนิท ด้านในของเปลือกตาโดยเฉพาะเปลือกตาล่างจะมีตุ่ม หากเป็นรุนแรง ผิวกระจกตาจะเป็นรอย มีเส้นเลือดวิ่งเข้ามาที่กระจกตา กระจกตาเป็นแผลเป็น ทำให้ตามัวลงได้

พบว่าผู้ป่วยกลุ่ม AKC จะพบร่วมกับเริ่มที่กระจกตาโรคกระจกตาโป่ง และต้อกระจกได้
การรักษาควรตรวจสิ่งกระตุ้นที่ทำให้แพ้ด้วยวิธี Skin Test และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น การรักษาด้วยยาเช่นเดียวกับ SAC และ PACอาจใช้ Cyclosporine ร่วมด้วย

4. Giant Papillary Conjunctivitis (GPC)

มักพบในผู้ใส่คอนแทคเลนส์ ส่วนผู้ป่วยหลังผ่าตัดที่มีไหมโผล่ ผู้ที่ใส่ตาปลอมก็สามารถพบได้เช่นกัน สำหรับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ สาเหตุมาจากวัสดุที่ทำคอนแทคเลนส์ ระยะเวลาในการใส่ การทำความสะอาด พบว่า 1-5% ของผู้ที่ใส่เลนส์นิ่มและ 1% ของผู้ใส่เลนส์ชนิดกึ่งแข็งมีอาการของโรคนี้รุนแรงได้ สำหรับคอนแทคเลนส์ที่เป็นแบบเปลี่ยนทุกวันจะมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อยกว่าใส่คอนแทคเลนส์แบบใส่เป็นระยะเวลานานแล้วค่อยเปลี่ยนคู่ใหม่
สำหรับผู้ที่ใส่เลนส์ชนิดนิ่ม โดยเฉลี่ยจะเกิดโรคนี้หลังใส่ไปแล้ว 8 เดือน เและ 8 ปี ในกลุ่มที่ใส่เลนส์กึ่งแข็ง แต่ก็สามารถพบได้เร็วตั้งแต่ 3 สัปดาห์หลังใส่เลนส์นิ่ม และ 14 เดือน หลังใส่เลนส์กึ่งแข็ง ได้เช่นกัน


มีอาการเริ่มแรก คือ คัน เคืองตา มีขี้ตามากขึ้น  หากเป็นมากขึ้นก็จะมีอาการตามัว มีขี้ตามากองตรงหัวตา รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตาเวลาใส่คอนแทคเลนส์ ทำให้ต้องลดระยะเวลาการใส่คอนแทค-เลนส์ลง และยังสามารถมีอาการคันตาอย่างต่อเนื่องได้ แม้ว่าจะถอดคอนแทคเลนส์ออกไปแล้ว อาการแสดงที่เยื่อบุตาด้านบนข้างในของเปลือกตาจะมีสีแดง มีเมือกและมีตุ่ม

การรักษา นอกการการใช้ยาหยอดตาแล้ว ในผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์การหยุดใส่จะทำให้โรคดีขึ้นและเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่เนื่องจากส่วนใหญ่ยังจำเป้นต้องกลับมาใส่คอนแทคเลนส์ การปรับเปลี่ยนการใส่และการทำความสะอาดคอนแทคเลนส์จึงช่วยได้  ถ้าใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มควรเปลี่ยนเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง แต่ถ้าใส่คอนแทคเลนส์ชนิดกึ่งแข็งจำเป็นต้องใช้ตัวเอนไซม์ขจัดคราบโปรตีน และเช็ดทำความสะอาดเลนส์ทุกครั้ง รวมทั้ง ลดระยะเวลาการใส่คอนแทคเลนส์ลง ทั้งนี้ การใช้น้ำยาทำความสะอาด กลุ่มที่มี Hydrogen Peroxide จะได้ผลดีกว่าชนิดอื่น แต่ถ้าหากไม่ได้ผลอาจจะต้องเปลี่ยนจากการใส่เลนส์นิ่มมาเป็นเลนส์กึ่งแข็งแทน

5. Contact Allergic conjunctivitis

เกิดจากการที่เยื่อบุตาสัมผัสกับยาหรือเครื่องสำอางที่แพ้ อาจพบที่ผิวหนังบริเวณเปลือกตาร่วมด้วย ทำให้เปลือกตาบวม
การรักษา ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ และใช้ยารักษาภูมิแพ้เช่นเดียวกับกลุ่ม SAC และ PAC หากมีอาการทางผิวหนังอาจจำเป็นต้องใช้ยาทาหรือรับประทานร่วมด้วย