02-056-3333
ศูนย์รักษาโรค> รอบรู้เรื่องตา

โรคตาแห้ง : Dry Eyes

ตาแห้ง คือ อาการของดวงตาที่มีปริมาณน้ำตามาหล่อเลี้ยงให้เกิดความชุ่มชื้นกับดวงตาและเคลือบกระจกตาดำไม่เพียงพอ

ซึ่งพบในผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย แต่จะพบบ่อยมากในผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน
 
โดยปกติน้ำตาถูกสร้างจากต่อมน้ำตา 2 กลุ่ม ได้แก่
1. ต่อมน้ำตาที่เป็นเซลล์เล็ก ๆ ซึ่งฝังตัวอยู่บริเวณเยื่อเมือกที่คลุมตาขาวและด้านในของเปลือกตา
    มีหน้าที่ผลิตน้ำตาออกมาหล่อลื่นตาตลอดทั้งวันในภาวะปกติ เรียกว่า Basic Tear Secretion
2. ต่อมน้ำตาใหญ่ อยู่ใต้โพรงกระดูกเบ้าตาบริเวรหางคิ้วมีหน้าที่ผลิตน้ำตาออกมาเฉพาะเวลาที่มีอารมณ์ต่าง ๆ
    เช่น อาการเจ็บปวด ระคายเคืองตา ดีใจ เสียใจ เรียกว่า Reflex Tearing

สาเหตุของโรคตาแห้ง

●  มักพบในผู้หญิงที่มีอายุมากขึ้น ซึ่งการสร้างน้ำตาจะค่อย ๆ ลดลงเอง โดยเฉพาะในวัยหลังหมดประจำเดือน
    เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกาย และจะพบในผู้ป่วยที่เป็นโรค Sjogren’s Syndrome
    ซึ่งมีอาการตาแห้งร่วมกับข้ออักเสบและปากแห้ง
 
●  ยาบางชนิดอาจทำให้กระบวนการสร้างน้ำตาลดลง เช่น ยากลุ่มแอนตี้ฮิสตามีน ใช้รักษาหวัดและภูมิแพ้
    ยากล่อมประสาท ยาทางจิตเวช ยาลดความดันโลหิตสูงในกลุ่มที่ออกฤทธิ์โดยการขับปัสสาวะ เป็นต้น
    หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาสามารถใช้ต่อไปได้ แต่ต้องรักษาอาการตาแห้งร่วมไปด้วย 

●  ผู้ป่วยที่มีเยื่อบุตาอักเสบรุนแรงจากการติดเชื้อ หรือจากการแพ้ยาที่เรียกว่า Stevens-Johnson Syndrome
    การอักเสบที่รุนแรงและเรื้อรัง อาจไปทำลายต่อมสร้างน้ำตาเล็ก ๆ ที่เยื่อบุตาขาว
    ทำให้ผู้ป่วยเกิดตาแห้งชนิดรุนแรงได้

●  การใช้คอนแทคเลนส์ทำให้ตาแห้งได้ เนื่องจาก คอนแทคเลนส์จะดึงน้ำที่ตาเพื่อทำให้ตัวคอนแทคเลนส์เอง
    สามารถคงความใสอยู่ได้

●  การใช้สายตาเป็นเวลานาน เช่น อ่านหนังสือ ดูโทรศัพท์  คอมพิวเตอร์  โทรศัพท์มือถือ (สมาร์ทโฟน)
    แท็บเล็ต เป็นต้น 

●  การนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือ หลับไม่สนิท ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ส่งผลให้การสร้างน้ำตาลดลงได้ 
●  สิ่งแวดล้อมมีผลทำให้ตาแห้งได้ เช่น เจอสภาพอากาศแห้ง มีความชื่นในอากาศน้อย,
    อยู่ในห้องแอร์มีอุณหภูมิเย็นแห้ง, ปะทะลมหรือแสงแดดเป็นประจำ เป็นต้น จะทำให้น้ำตาระเหยได้ง่าย
 
จักษุแพทย์จะวินิจฉัย “โรคตาแห้ง” โดยการซักประวัติ และในบางครั้งอาจใช้วิธีทดสอบโดยการวัดปริมาณน้ำตา ที่เรียกว่า Schrimer’s Test โดยการให้ผู้ป่วยหลับตา แล้วใช้แถบกระดาษกรองมาตรฐาน สอดไว้ที่ซอกเปลือกตาด้านล่างค่อนไปทางหางตา ใช้เวลา 5 นาที แล้วเริ่มวัดระยะความเปียกของกระดาษจากขอบตาออกมาบันทึกไว้ ซึ่งหากปริมาณน้ำตาเป็นปกติจะวัดแถบน้ำตาที่เปียกได้ 10 มิลลิเมตร ขึ้นไป

อาการของโรคตาแห้ง

ตาจะรู้สึกฝืด เคือง ระคาย คล้ายมีเศษผงเข้าตา แสบร้อน บางรายมีขี้ตาเป็นเมือกเหนียวยืดเป็นเส้น เพราะน้ำตามีส่วนประกอบของน้ำเมือกและน้ำมัน เมื่อโดนแดดและลม น้ำจะถูกระเหยไป จึงทำให้เมือกข้นมากขึ้น ผู้ป่วยจึงมีขี้ตาซึ่งมีลักษณะเป็นเมือกสีขาว หรือสีเหลืองนวลมากกว่าปกติ ผู้ปวยที่ใส่คอนแทคเลนส์อยู่ ถ้ามีอาการตาแห้ง จะทำให้ระคายเคืองเพิ่มมากขึ้น
 
บางครั้งผู้ป่วยจะมีอาการน้ำตาไหล สาเหตุเนื่องจากน้ำตาปกติลดน้อยลง มีอาการระคายเคือง ทำให้ต่อมน้ำตาใหญ่ (Reflex Tear) บีบน้ำตาออกมามากจนไหลล้น เมื่ออาการแสบตาลดลงน้ำตาก็จะหยุดไหล จนน้ำตาเริ่มแห้งถึงระดับที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองตาอีก น้ำตาก็จะไหลออกมามาก สลับกันไปเช่นนี้เป็นระยะ 

วิธีการดูแลรักษาโรคตาแห้ง

มีหลายวิธีที่สามารถปฏิบัติด้วยตัวเองได้ง่ายๆ รวมถึงการพบจักษุแพทย์เป็นประจำ

1. ลดการระเหยของน้ำตาให้น้อยลง

    ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลดี คือหลีกเลี่ยงการปะทะโดยตรงกับแสงแดด
    และลม สวมแว่นกันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้ง ไม่นั่งในที่ที่มีลมพัดหรือลมแอร์เป่าใส่ดวงตา

2. กะพริบตาถี่ ๆ

    ในภาวะปกติคนเราจะกระพริบตานาทีละ  20-22 ครั้ง ทุกครั้งที่กระพริบตา เปลือกตาจะรีดผิว
    น้ำตาให้มาฉาบผิวกระจกตา แต่ถ้าในขณะที่จ้องหรือเพ่ง ตาจะลืมค้างไว้นานกว่าปกติ ทำให้กระพริบตา
    เพียง 8-10 ครั้ง น้ำตาก็จะระเหยออกไปมาก ทำให้ตาแห้งเพิ่มขึ้น จึงควรพักสายตาโดยการหลับตา
    กระพริบตา ทุก ๆ 10 - 15 นาที หรือลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถ ประมาณ  2-3 นาที ในทุกครึ่งชั่วโมง

3. ใช้กรอบแว่นตาชนิดพิเศษ

     สำหรับผู้ที่ตาแห้งมาก อาจใช้กรอบแว่นชนิดพิเศษที่มีแผ่นคลุมปิดกันลมด้านข้าง
     ของแว่นตา แว่นชนิดนี้จะช่วยครอบทั้งดวงตาและป้องกันลม หรือจะใช้แผ่นซิลิโคนชนิดพิเศษที่มีลักษณะบางใส
     และนุ่ม นำมาตัดให้เข้ารูปและติดเข้ากับด้านข้างของกรอบแว่นตาคู่เดิม ซึ่งเรียกว่า Moist Chamber

4. ใส่คอนแทคเลนส์ให้น้อยลง

    หากพบว่าตาแห้งมากควรงดใส่คอนแทคเลนส์

5. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ

    เพื่อให้ร่างการสามารถผลิตน้ำตาได้เต็มที่

6. ใช้น้ำตาเทียม

    ● น้ำตาเทียมคือยาหยอดตาที่ใช้เพื่อหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นกับผู้ที่ตาแห้ง
    น้ำตาเทียม มี 2 ชนิด คือ
    ●  น้ำตาเทียมชนิดน้ำ เหมาะที่จะใช้ในเวลากลางวัน เพราะไม่เหนียวเหนอะหนะและ
        ไม่ทำให้ตามัวแต่ต้องหยอดตาบ่อย

    ●  น้ำตาเทียมชนิดเจลและขี้ผึ้ง มีลักษณะเหนียวหนืด หล่อลื่นและคงความชุ่มชื้นได้นานกว่าชนิดน้ำ
        แต่จะทำให้ตามัวชั่วขณะหลังป้ายยา จึงควรใช้ป้ายตาแต่น้อยและควรใช้ก่อนเข้านอน
        การรักษาด้วยวิธีใช้น้ำตาเทียม เวลาในการหยอดตาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการตาแห้ง
        หากวันใดไม่ถูกแสงแดดหรือลม และรู้สึกสบายตาก็ไม่จำเป็นต้องหยอด แต่ถ้ารู้สึกเคืองตามาก
        ก็สามารถหยอดบ่อย ๆ ได้ตามต้องการ

7. อุดรูระบายน้ำตา

    สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งอย่างรุนแรง จักษุแพทย์จะใช้วิธีอุดรูระบายน้ำตาเพื่อขังน้ำตาที่มีอยู่ให้
    หล่อเลี้ยงตาอยู่ได้นาน ๆ ไม่ปล่อยให้ไหลทิ้งไปเหมือนกับการสร้างเขื่อนกั้นน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้
    การอุดรูระบายน้ำตา มี 2 แบบ คือ แบบชั่วคราว และแบบถาวร สำหรับการอุดแบบชั่วคราวจักษุแพทย์จะ
    สอดคอลลาเจนขนาดเล็กเข้าไปในรูท่อน้ำตา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตาขึ้น โดยคอลลาเจน
    จะสลายไปเอง ภายใน 3 สัปดาห์ สำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำตาแห้งมาก

    จักษุแพทย์จะอุดรูระบายน้ำตาแบบถาวรให้ ทั้งนี้ จะใช้แบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

ข้อควรระวังในการใช้น้ำตาเทียม

ผู้ป่วยที่ตาแห้งน้อย หยอดตาไม่เกินวันละ 4-5 ครั้ง สามารถใช้ยาหยอดตาชนิดขวดที่มีสารกันบูดได้ แต่กรณีผู้ป่วยที่ตาแห้งมาก และหยอดตามากกว่าวันละ 6 ครั้ง จักษุแพทย์จะสั่งน้ำตาเทียมชนิดพิเศษที่ไม่มีสารกันบูด (Preservative-Free Tear) ให้ใช้แทน ซึ่งมีข้อจำกัดก็คือ ยาจะบรรจุในหลอดเล็กเมื่อเปิดใช้แล้วต้องใช้ให้หมดภายใน 12 - 16 ชั่วโมง หากใช้นานกว่านี้อาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้