02-056-3333
ศูนย์รักษาโรค> รอบรู้เรื่องตา

ต้อหิน : Glaucoma

ต้อหิน เป็นโรคทางตาที่ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่มีอันตรายถึงขั้นทำให้ดวงตาสูญเสียการมองเห็นได้

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคนี้โดยเฉพาะในระยะแรกของโรค แต่เมื่อทราบก็มักจะสูญเสียการมองเห็นไปมากแล้ว  
ทั้งนี้ ต้อหินสามารถเกิดกับตาได้ทั้งสองข้าง จากความผิดปกติของความดันภายในลูกตาที่ค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น  
จนทำลายประสาทตาและสูญเสียการมองเห็นในที่สุด และสาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากการได้รับการถ่ายทอดโครงสร้างตาทางพันธุกรรม
ที่เอื้อต่อการเกิดต้อหินได้เช่นกัน ต้อหินที่พบได้บ่อย มักเป็นต้อหินชนิดมุมเปิด (Primary open-angle glaucoma)

สาเหตุ

ความผิดปกติของความดันภายในลูกตา เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดภาวะต้อหิน  ดวงตาของเรานั้น จะมีส่วนที่เรียกว่า ช่องด้านหน้าของลูกตา (Anterior chamber) ซึ่งมีตำแหน่งอยู่ด้านหลังกระจกตา แต่อยู่ด้านหน้าม่านตา ภายในช่องนี้จะมีของเหลวที่เรียกว่า Aqueous humor บรรจุอยู่ ของเหลวนี้จะทำหน้าที่นำออกซิเจนและสารอาหารที่จำเป็นไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง ซึ่งอัตราการสร้างของเหลวนี้จะสมดุลพอดีกับอัตราการไหลออกจากลูกตา ดวงตาจึงมีระดับความดันภายในลูกตาที่เป็นปกติ

แต่ในสภาวะที่เป็นต้อหิน ของเหลวนี้จะไหลออกจากลูกตาผ่านช่องด้านหน้าของลูกตาด้วยอัตราที่ลดน้อยลง จึงเกิดการคั่งของของเหลวภายในลูกตา จนทำให้ระดับความดันภายในลูกตาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างช้า ๆ ถ้าความดันลูกตายังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ความดันภายในลูกตานี้จะไปกดประสาทตา ทำให้เลือดมาเลี้ยงประสาทตาได้ไม่ดีเท่าที่ควร เป็นผลให้ประสาทตาเสื่อม ฝ่อตัวลง ขั้วประสาทตาถูกทำลาย สายตาจะมัวลงจนถึงขึ้นสูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด
ทั้งนี้ ตาจะมีอาการแข็งเหมือนกับหิน จากความดันภายในลูกตาที่สูงขึ้น ทางการแพทย์จึงเรียกว่า "ต้อหิน"

ปัจจัยความเสี่ยงที่จะทำให้เป็นต้อหิน

► ผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป แต่อาจพบได้ในคนที่มีอายุต่ำกว่านี้
   (แต่อย่างไรก็ตาม ต้อหินเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ไม่ใช่เพียงอายุเท่านั้น)

► ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นต้อหิน จะได้รับการถ่ายทอดโครงสร้างตาทางพันธุกรรมที่เอื้อต่อการเกิดต้อหินได้
► ผู้ที่มีสายตาสั้นมาก  พบว่าจะมีขนาดลูกตาใหญ่ จอประสาทตาบาง มีโอกาสเสี่ยงที่ความดันตาจะไปกดประสาทตา
    ให้เสื่อมเร็วขึ้นได้มากกว่าคนสายตาปกติ

► ผู้ที่มีสายตายาวมาก พบว่าจะมีขนาดลูกตาเล็ก มีช่องด้านหน้าลูกตาแคบและมุมตาแคบ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นต้อหิน
    ได้ง่ายกว่าคนสายตาปกติ

► ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิต เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดตีบ
    พบว่าอุบัติการเกิดต้อหินจะเร็วกว่าคนที่มีสุขภาพดี

► คนผิวสี (คนผิวเหลือง ผิวคล้ำ ผิวดำ) ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเกิดต้อหินสูงเป็น 5 เท่าของคนผิวขาว
    มีอาการรุนแรงและมีโอกาสสูญเสียการมองเห็นได้มากกว่าคนผิวขาวถึง 4 เท่า และในช่วงอายุ 45 - 64 ปี
    คนผิวสีที่เป็นต้อหิน จะมีโอกาสสูญเสียการมองเห็นมากกว่าคนผิวขาวถึง 15 เท่า             

► ผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนทางตา
► ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างของลูกตา เช่น แก้วตาเล็ก หรือ มีความผิดปกติทางตาอื่นๆ

ชนิดของโรคต้อหิน

1. ต้อหินชนิดปฐมภูมิ (Primary glaucoma)               
1.1 ชนิดมุมเปิด (Primary open-angle glaucoma)ต้อหินชนิดนี้เป็นต้อหินที่พบบ่อย แบ่งเป็น 2  ประเภท คือ ความดันตาสูง และ ความดันตาปกติ ต้อหินทั้ง 2 ประเภทนี้ จะไม่มีอาการปวดตา หรือตาแดง ผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าเป็นต้อหิน แต่สายตาจะค่อยๆมัวลง อาจสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลานานเป็นเดือนหรือเป็นปี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะทำให้ตาบอดได้ในที่สุด แต่หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็วก็จะรักษาสายตาไว้ได้
1.2 ชนิดมุมปิด (Primary angle-closure glaucoma)แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

         ► ต้อหินชนิดเฉียบพลัน เกิดจากความดันลูกตาที่ขึ้นสูงโดยทันที ทำให้ตามัวลงอย่างรวดเร็ว อาจเห็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ มีอาการปวดตาอย่างรุนแรง ตาแดง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มักไม่หายด้วยการรับประทานยาแก้ปวด ถ้าไม่                 รักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้ตาบอดได้อย่างรวดเร็ว
          ► ต้อหินชนิดเรื้อรัง เกิดจากความดันลูกตาที่ขึ้นช้าๆ อาจขึ้นไม่สูงมาก จะมีอาการปวดตา ปวดศีรษะเล็กน้อยหรือไม่ปวดเลย ตาจะค่อยๆเห็นแคบหรือมัวลงทีละน้อยจนแทบไม่ได้สังเกตว่าเกิดความผิดปกติขึ้น จึงมักถูกปล่อยทิ้งไว้จน                   ประสาทตาเสียไปมาก แล้วค่อยมาพบแพทย์ ซึ่งอาจสายเกินไปที่จะรักษาให้ตากลับไปเห็นได้ดีเหมือนเดิม

ของเหลวในช่องด้านหน้าลูกตาจะไหลออกจากดวงตาผ่านทางเนื้อเยื่อ Trabecular Meshwork ซึ่งอยู่บริเวณมุมของช่องด้านหน้าลูกตา
ปัจจุบันพบผู้ป่วยต้อหินที่มีความดันลูกตาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ( ≤ 21 มม. ปรอท) เพิ่มมากขึ้น ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด คาดว่าอาจเกิดจาก มีความดันลูกตาสูงบางช่วงเวลาที่ไม่ตรงกับเวลาที่จักษุแพทย์ทำการวัด เกิดจากความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือดบริเวณประสาทตา หรือเกิดจากเนื้อเยื่อประสาทตาอ่อนแอกว่าปกติ อาการจะเหมือนกับต้อหินชนิดเรื้อรัง วิธีการรักษาเหมือนกับต้อหินชนิดเรื้อรัง เนื่องจากพบว่าการลดความดันตาสามารถชะลอหรือหยุดการดำเนินโรคได้

2. ต้อหินทุติยภูมิ (Secondary glaucoma)
เป็นต้อหินที่เป็นผลตามมาจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น จากต้อกระจกที่เป็นมาก ม่านตาอักเสบ อุบัติเหตุทางตา การใช้ยาหยอดตาพวกสเตอรอยด์เป็นเวลานาน เบาหวานขึ้นจอตา เส้นเลือดที่จอประสาทตาอุดตัน หรือหลังการผ่าตัดตาบางอย่าง

3. ต้อหินแต่กำเนิด (Congenital glaucoma)
เป็นต้อหินที่พบในเด็กแรกคลอดจนถึงอายุ 3 ปี สาเหตุอาจเป็นจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น มารดาเป็นหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ อาการของต้อหินชนิดนี้คือ เด็กจะมีน้ำตาไหล สู้แสงไม่ค่อยได้ ไม่ยอมลืมตา ลูกตาอาจมีขนาดโตขึ้น ตาดำมีขนาดใหญ่กว่าปกติ กระจกตาดำขาวขุ่น ถ้าไม่ได้รับการรักษาเด็กจะมองไม่เห็น และตาบอดในที่สุด

อาการ

1. สูญเสียลานสายตาของการมองเห็น (Field of Viewing) เช่น เห็นแสงแคบลง ไม่เห็นด้านข้าง หรือถ้าปิดตาดูทีละข้างอาจมีจุดบอดเป็นบางส่วน
2. ตามัวลง เกิดขึ้นเมื่อโรคต้อหินเป็นมากแล้ว
3. ในที่มีแสงสลัวจะมองเห็นวัตถุได้ไม่ชัดเหมือนเดิม
4. เห็นรุ้งรอบๆดวงไฟ
5. กรณีที่เป็นต้อหินชนิดเฉียบพลัน จะคลื่นไส้ อาเจียน และปวดศีรษะมาก และตามัวลงอย่างรวดเร็ว

การรักษา

แม้ต้อหินจะรักษาให้หายขาดไม่ได้ เพราะประสาทตาจะเสียอย่างถาวรไม่สามารถรักษาให้กลับมาปกติ แต่การรักษาที่ถูกต้องจะป้องกันไม่ให้ประสาทตาถูกทำลายมากขึ้นไปอีก เมื่อพบว่าเป็นต้อหิน ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาเพื่อควบคุมความดันภายในลูกตาให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ซึ่งวิธีการรักษาต้อหินทำได้หลายวิธีคือ
1. การใช้ยา
มีทั้งยาหยอดตา ยารับประทาน และยาฉีดเข้าเส้นเลือดเพื่อลดการผลิตของน้ำหล่อเลี้ยงภายในลูกตา หรือไปขยายช่องถ่ายเทให้น้ำไหลออกสะดวกขึ้น  แต่เนื่องจากยาออกฤทธิ์อยู่ได้ไม่นาน ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องคอยหมั่นใช้ยาตามเวลาที่ได้รับการแนะนำอย่างเคร่งครัด ถ้าใช้ยาไม่สม่ำเสมอ ความดันตาจะสูงขึ้นในช่วงที่ยาหมดฤทธิ์ และทำลายการมองเห็นไปเรื่อยๆจนตาบอดได้ นอกจากนี้ต้องไปรับการตรวจรักษาจากจักษุแพทย์เป็นระยะๆ เพื่อดูความดันตา และลานสายตา รวมทั้งการตรวจอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่ายาที่ให้เพียงพอที่จะควบคุมโรคได้ จักษุแพทย์จะช่วยปรับวิธีการรักษาให้เหมาะสมตามความรุนแรงของโรค
2. การใช้แสงเลเซอร์และการผ่าตัด
ในรายที่ใช้ยาไม่ได้หรือไม่ได้ผล อาจเป็นเพราะยาไม่สามารถลดความดันตาลงได้พอ หรือแพ้ผลข้างเคียงของยา ต้องใช้วิธีฉายแสงเลเซอร์หรือการผ่าตัด โดยการทำช่องทางถ่ายเทน้ำหล่อเลี้ยงใหม่ เพื่อให้ไหลได้สะดวกขึ้น ใช้ในรายที่พบว่าประสาทตายังถูกทำลายไปเรื่อยๆ แม้ความดันตาไม่สูงมากก็ตาม หรือรายที่ใช้ยาไม่ได้หรือใช้แล้วไม่ได้ผล และผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลไม่สามารถมารับการรักษาเป็นประจำได้

การจะเลือกรักษาโดยวิธีใด ขึ้นอยู่กับชนิด ความรุนแรงและอาการของโรค และขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของจักษุแพทย์

ต้อหินส่วนใหญ่เกิดขึ้นเอง แต่ในผู้ป่วยบางรายเกิดจากการซื้อยาหยอดตาบางชนิดมาใช้เอง ได้แก่ ยาหยอดตาสเตอรอยด์ที่ใช้รักษาการอักเสบ แต่อาจทำให้เกิดโรคต้อหินได้ ถ้าใช้หยอดตาติดต่อกันหลายๆขวด จึงไม่ควรซื้อยาหยอดตามาใช้เอง ควรใช้ยาเฉพาะที่จักษุแพทย์สั่งให้เท่านั้น ในรายที่จักษุแพทย์เห็นว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคต้อหิน หรือเป็นต้อหินแล้วในตาข้างหนึ่ง จักษุแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยป้องกันตาอีกข้างหนึ่งไม่ให้เป็น เนื่องจากต้อหินมักเป็นกับตาทั้งสองข้าง ซึ่งจะป้องกันรักษา โดยการหยอดยา การฉายแสงเลเซอร์ หรือ การผ่าตัด

การปฏิบัติตัวของผู้ที่เป็นโรคต้อหิน

► ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตเช่นคนปกติ แต่จะต้องเอาใจใส่ ใช้ยาตามเวลาที่จักษุแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ตรวจตาอย่างสม่ำเสมอตามนัดของแพทย์
► สำหรับการออกกำลังกายนั้น ผู้ป่วยส่วนมากสามารถเล่นกีฬาได้ทุกชนิด ยกเว้นกีฬาที่ต้องห้อยศีรษะต่ำเป็นเวลานาน มีผู้ป่วยต้อหินบางชนิดเท่านั้นที่ไม่สามารถออกกำลังกายได้ ซึ่งจักษุแพทย์จะเป็นผู้แนะนำ
ถึงแม้ต้อหินส่วนใหญ่ รักษาให้กลับมาเป็นปกติไม่ได้ แต่การรักษาที่ถูกต้อง สามารถถนอมสายตาและประสาทตาไม่ให้เสื่อมมากขึ้นจนถึงขั้นตาบอดได้เนื่องจากต้อหินไม่สามารถรักษาให้หายขาด หรือให้เห็นดีขึ้น การป้องกันไม่ให้เกิดต้อหินจึงเป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุด ถึงแม้ต้อหินส่วนใหญ่เกิดขึ้นเองและป้องกันไม่ได้ แต่มีหลายชนิดที่สามารถป้องกันได้ โดยเฉพาะต้อหินชนิดเฉียบพลัน หรือ ต้อหินมุมปิด ซึ่งพบได้มากในคนเอเชีย
ดังนั้นควรดูแลรักษาดวงตา หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ และไม่ซื้อยาหยอดตาใช้เอง ผู้มีอายุมากกว่า 35 ปี และมีแนวโน้มจะเป็นต้อหินได้ง่าย เช่น มีประวัติต้อหินในครอบครัว มีสายตาสั้นหรือยาว มีปานแดงหรือดำบริเวณใบหน้า เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือเคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณตามาก่อน ควรได้รับการตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง