02-056-3333
ศูนย์รักษาโรค> รอบรู้เรื่องตา

การดูแลสุขภาพตาในแต่ละวัย (นพ.ปกป้อง ปราณีประชาชน)

วิธีการดูแลสุขภาพดวงตาของลูกเราให้สามารถใช้งานไปได้นาน ๆ ทำได้อย่างไร

เด็กไม่สามารถที่จะบอกเราได้ว่าเขาสามารถมองเห็นหรือมองไม่เห็น เพราะฉะนั้นการดูแลเอาใจใส่จะสำคัญเพราะถ้าหาก ว่าเรารู้ว่าเด็กเป็นโรคอะไรแต่เนิ่น ๆ การรักษาจะได้ทันท่วงที เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าเด็กมีความผิดปกติเหล่านี้ นพ.ปกป้อง ปราณีประชาชน ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ผู้ปกครองสามารถสังเกตได้หลายแบบ บางครั้ง เด็กอาจจะไม่สามารถบอกได้ว่าเขามองไม่เห็นหรือมีสายตาผิดปกติ แต่เขาอาจจะมีอาการอย่างอื่น เช่น มีการกะพริบตามากกว่าปกติ มีการก้มมองวัตถุใกล้กว่าปกติ มีการหยีตา การเอียงศรีษะไปมา การเดินชนวัตถุรอบตัว หรือ บางครั้งไม่มีอาการอะไรเลยก็เป็นไปได้ ถ้าผู้ปกครองสังเกตุเห็นความผิดปกติอะไรก็ตามในลูกตาของเด็ก หรือสงสัยว่ามีความผิดปกติ แนะนำให้รีบพามาพบจักษุแพทย์โดยเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงอายุของเด็ก เช่น อาการผิดปกติในเรื่องของน้ำตาไหล ตาแดง หรืออาการอื่นๆที่ผู้ปกครองรู้สึกว่าไม่ปกติ ยิ่งมาพบจักษุแพทย์ได้เร็วเท่าไรยิ่งดีต่อดวงตาของเด็ก 

ยกตัวอย่างเช่น

เด็กเกิดมาตามองไม่ชัดหรือมองไม่เห็นข้างหนึ่ง จากโรคอะไรก็ตาม จากโรคจอประสาทตาหลุดลอก หรือว่าโรคต้อกระจก หรืออะไรก็ตาม การที่ตามองไม่เห็นหรือมองเห็นไม่ชัดข้างหนึ่งนั้น ทำให้ตาข้างนั้นไม่ได้ถูกใช้งาน พอไม่ได้ใช้นานๆเข้า ก็อาจจะเกิดอาการตาเหล่ หลายๆครั้งที่ผู้ปกครองเข้าใจผิดว่า อาการตาเหล่สามารถรอได้ ค่อยมารับการรักษาตอนที่เด็กโตขึ้น ซึ่งก็อาจจะทำให้รักษาไม่ทัน แต่หากผู้ปกครองพาเด็กๆมาพบจักษุแพทย์ ตัวอย่างเช่น เด็กมีอาการต้อกระจก จักษุแพทย์จะทำการรักษาผ่าต้อกระจก ให้แว่นตาที่ถูกต้องต่อสายตาเด็ก หรืออาจมีการปิดตา เหล่านี้อาจทำให้เด็กกลับมามองเห็นได้ หรือแม้แต่เด็กที่มีเฉพาะอาการตาเหล่ แต่โรคตาเหล่นี้ มักมากับอีกโรคหนึ่ง คือโรคตาขี้เกียจ หากผู้ป่วยใช้ตาข้างหนึ่งน้อยกว่าอีกข้างหนึ่ง ก็อาจทำให้ตาที่ไม่ได้ใช้มองเห็นไม่ชัดได้ เราเรียกภาวะแบบนี้ว่า ตาขี้เกียจ คราวนี้มันอยู่ที่ว่า ภาวะอะไรล่ะที่ทำให้เราใช้ตาข้างหนึ่งน้อยกว่าอีกข้างหนึ่ง ก็คือภาวะตาเหล่
 
เพราะว่าเวลาคนที่เป็นตาเหล่ เขาจะใช้ตาทีละข้างเขาไม่ได้เหล่ทั้ง 2 ตา ตาไหนใช้ตานั้นจะตรง ตาที่ไม่ได้ใช้จะเป็นตาเหล่ เด็กบางคนโชคดีใช้ตาสลับไปสลับมา เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีภาวะตาขี้เกียจ เพราะได้ใช้ตาพอ ๆ กัน แต่บางคนเลือกที่จะใช้ตานึง ใช้ตาขวา ตาขวาก็ตรงตลอด ตาซ้ายเหล่ตลอด ในกรณีอย่างนี้ตาซ้ายที่ไม่ได้ใช้งาน จะมองไม่ชัด ทำให้เกิดตาขี้เกียจขึ้นมาได้ ซึ่งถ้าเรารักษาตอนอายุมากไปแล้ว มันจะรักษาไม่หาย ซึ่งการที่เราทำอะไรใกล้ๆนานๆ กิจกรรมที่ทำอะไรใกล้ๆนานๆเป็นผลร้าย ผู้ที่อ่านหนังสือติดต่อกัน หรือการใช้งานโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตนานๆโดยไม่หยุดพัก ก็เช่นกัน

ยิ่งในปัจจุบันนี้มีหนังสือเล่มเล็ก ๆ ตัวหนังสือเล็ก ๆ โทรศัพท์มือถือ หน้าจอแทบเล็ตต่าง ๆ

เด็ก ๆ ก็จะอ่านในห้องน้ำ ในรถยนต์ ในที่มืดๆ ในห้องมืดๆ ยิ่งใช้งานสายตาแบบนี้ติดต่อนานๆเกินไป สายตามันก็ทำงานหนัก มีโอกาสทำให้เกิดสายตาสั้นมากกว่า การอ่านหนังสือ การเล่นโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต ไม่ว่าจะเป็นการนอนหงาย หรือนอนคว่ำเล่น มันจะทำให้ความโน้มถ่วง ทำให้หน้าและดวงตาเข้าใกล้วัตถุนั้น ๆ มากเกินไป เพราะฉะนั้นถ้าใกล้ๆนานๆนั้นไม่ดี อยากจะแนะนำว่า กรณีที่เด็กอ่านหนังสือความห่างของระยะระหว่างตากับหนังสือควรเป็นประมาณ 1 ข้อศอก คือลองเท้าคางดูว่าระยะห่างเท่านี้ ไม่ควรต่ำกว่านี้ ถ้าต่ำกว่านี้คือใกล้ไป

อีกกลุ่มหนึ่งก็คือเรื่องของกิจกรรมทั้งหลาย

เช่น เกมในโทรศัพท์มือถือ เกมในแท็บเล็ตต่าง ๆ ซึ่งผู้ปกครองควรจำกัดอย่าให้มากเกินไป ปัจจุบันนี้เป็นอะไรที่มากเกินไป เด็กจะใช้เวลาอยู่กับอุปกรณ์เหล่านี้มากเกินไป โดยเฉพาะช่วงปิดภาคเรียน วันหนึ่งหลายชั่วโมง บางครั้ง 7-8 ชั่วโมง ซึ่งมากเกินไป ผู้ปกครองต้องหมั่นดูแลเรื่องกิจกรรมระยะใกล้ๆ คอยดูแลเรื่องการอ่านหนังสือ ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญและใส่ใจ ว่าเด็กควรจะอ่านหนังสือตรงไหน เวลาไหน ที่มีแสงสว่างเพียงพอคือสิ่งสำคัญ ผู้ปกครองควรฝึกเด็กๆเวลาอ่านหนังสือ ให้เกิดความเคยชินว่า ต้องนั่งอ่านหนังสือตรงไหน แสงสว่างเตรียมให้พอ ให้อ่านหนังสือที่โต๊ะที่อ่านหนังสือเป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ เปิดไฟอ่านหนังสือใช้คอมพิวเตอร์ ใช้ตรงนี้

ที่สำคัญกิจกรรมเหล่านี้ต้องมีความพอเหมาะพอดี กิจกรรมกลางแจ้งกับกิจกรรมในร่ม คือกิจกรรมทั้งในหนังสือหรือคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับที่สมดุลกัน และที่สำคัญควรพาเด็กๆมาพบจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละครั้งจะดีที่สุด

อัพเดท : 17/07/2564

บทความโดย : นพ. ปกป้อง ปราณีประชาชน