02-056-3333
ศูนย์รักษาโรค> รอบรู้เรื่องตา

โรคตาในผู้สูงอายุ

ตาเป็นอวัยวะที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของร่างกาย เมื่อเราอายุมากขึ้น ตาจะค่อยๆ เสื่อมสภาพลงไป

ถ้าเราไม่ระวังรักษาสุขภาพตา ก็อาจทำให้เกิดปัญหาหรือความผิดปกติขึ้นได้ ดังนั้น ควรตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป การมีความรู้เกี่ยวกับโรคตา จะไม่สามารถป้องกันการสูญเสียดวงตาอย่างถาวรได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งมักจะประสบปัญหาเกี่ยวกับโรคตาอยู่เสมอ โดยโรคและปัญหาทางตาที่มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ มีดังนี้

1.  สายตาสูงอายุ (PRESBYOPIA)

คนทั่วไปมักเข้าใจกันผิดว่าเป็นสายตายาว แต่แท้จริงเป็นการเสื่อมสภาพตามอายุ จะเกิดกับทุกคนที่อายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป เกิดจากการที่เลนส์แก้วตาขาดความยืดหยุ่น ทำให้ต้องใส่แว่นตาเวลามองใกล้ เพื่อปรับเปลี่ยนกำลังรวมแสงให้เพิ่มขึ้น สายตาสูงอายุเกิดได้ทั้งกับสายตาปกติ สายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอีย งแก้ไขโดยการใช้เลนส์ที่มีกำลังรวมแสงมากขึ้น คือนูนมากขึ้น หรือเว้าน้อยลงเวลาดูใกล้
สายตาสูงอายุ ต่างจากสายตายาวตรงที่สายตายาวต้องใช้เลนส์นูนเพื่อมองในระยะใกล้และไกล
 
**ข้อแตกต่างระหว่างสายตายาว และสายตาสูงอายุ (ลงตาราง)**

2.  ต้อกระจก (CATARACT) 

เมื่ออายุมากขึ้นเลนส์แก้วตาจะแข็งและขุ่นตัว สายตาจึงมัวลง จะเร็ว หรือช้า มาก หรือน้อย ขึ้นอยู่กับระดับและตำแหน่งของความขุ่นฝ้าในเนื้อเลนส์ ถ้าเป็นต้อกระจกในบริเวณขอบรอบนอก ผู้ป่วยก็ยังคงมีสายตาที่คมชัดเป็นปกติ แต่ถ้าเป็นบริเวณตรงกลางเนื้อเลนส์ จะรบกวนสายตามาก อาการที่พบได้บ่อยของ “ต้อกระจก” มีดังนี้
1.  สายตามัว หรือเห็นภาพซ้อน
2.  ตาสู้แสงไม่ได้ จะมัวเหมือนมีฝ้าหรือหมอกมาบัง ทำให้มีปัญหาในการขับขี่ยานพาหนะ
3.  เห็นสีผิดไปจากเดิม
4.  ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยๆ
ต้อกระจกจะเป็นมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น สายตาก็มัวลงเรื่อยๆ การผ่าตัดหรือการสลายต้อกระจก
จะทำได้เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้สายตาของผู้ป่วย แต่ถ้าต้อสุกแล้วจำเป็นต้องสลายต้อโดยเร็ว เพราะถ้าปล่อยไว้นอกจากจะเกิดอาการปวดตาอย่างรุนแรงแล้ว อาจเกิดต้อหินแทรกซ้อนได้

3.  ต้อหิน (GLAUCOMA) 

เกิดจากการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตามากกว่าปกติ และมีการปิดกั้นการไหลเวียนของน้ำในลูกตา ทำให้ความดันในลูกตาเพิ่มสูงขึ้น ไปทำลายประสาทตาจนเป็นเหตุให้มองไม่เห็น 
อาการของโรคต้อหิน คือ
1.  ตามัว มองวัตถุในที่มืดลำบาก อาจมองเห็นเป็นสีรุ้งรอบๆ ดวงไฟ
2.  สูญเสียสายตารอบนอกของลานสายตา
3.  ปวดตาอย่างรุนแรง ร่วมด้วยคลื่นไส้ อาเจียน และปวดศีรษะมาก ในกรณีที่เป็นต้อหินชนิดรุนแรง
 
รักษาโดยการใช้ยาหยอดตา และยารับประทานเพื่อลดความดันในลูกตา บางรายจำเป็นต้องรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์ และการผ่าตัด

4.  จุดดำลอยไปมา (VITREOUS FLOATERS) 

เกิดจากน้ำวุ้นในลูกตาเสื่อมหรือตกตะกอน มีอาการเห็นเป็นจุดดำหรือเส้น หรือไยแมงมุม โดยทั่วๆ ไปจะไม่มีอันตราย นอกจากจะพบการเสื่อมของจอประสาทตาฉีกขาด ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจจากจักษุแพทย์ รักษาด้วยการใช้ความเย็นจี้หรือเลเซอร์ แต่ถ้าพบมีจอตาหลุดลอกก็ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

5.  จุดรับภาพเสื่อม (MACULAR DEGENERATION) 

จุดรับภาพเสื่อมหรือโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมจากอายุ อาการคือมีเงาดำปรากฏอยู่ตรงกลางภาพ ทำให้อ่านหนังสือไม่ชัดแม้จะใช้แว่นดูใกล้ๆ แล้วก็ตาม ถ้าเป็นในระยะเริ่มแรกภาพจะบิดเบี้ยว การรักษาโดยการใช้แสงเลเซอร์อาจช่วยยับยั้งการลุกลาม ของโรคไม่ให้มีขนาดกว้างขึ้น

6.  จอประสาทเสื่อมจากเบาหวาน (DIABETIC RETINOPATHY) 

ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานแล้วไม่ได้รับการรักษาที่ดี หรือเป็นเบาหวานมานาน ส่วนใหญ่จะมีการเสื่อมของจอประสาทตา และมีโรคแทรกซ้อน เช่น ต้อหิน เป็นต้น 
การรักษา จักษุแพทย์สามารถใช้แสงเลเซอร์ช่วยยับยั้งการเสื่อมของจอประสาทตาได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ควรจะได้รับการตรวจจอประสาทตาเป็นประจำ เพื่อหาทางป้องกัน และรักษาก่อนที่จะเป็นมากขึ้นจนแก้ไขไม่ได้

โรคต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาเป็นโรคที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุได้เสมอ ดังนั้นหากดวงตา มีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบจักษุแพทย์ทันที


 
 
บทความโดยจักษุแพทย์ โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน