02-056-3333
ศูนย์รักษาโรค> รอบรู้เรื่องตา

ต้อลม ต้อเนื้อ

ต้อลม ต้อเนื้อ

► ต้อลม เป็นก้อนเนื้อนูนที่บนเยื่อบุตาขาวข้างกระจกตาดำ มีลักษณะเป็นแผ่นหนาหรือนูนกลมสีขาวเหลือง
    มักพบทางด้านหัวตามากกว่าหางตา บางครั้งเกิดได้ทั้งสองบริเวณ เมื่ออักเสบจะมีอาการแสบ เคืองตา
    และตาแดงในบริเวณที่เป็น

► ต้อเนื้อ เป็นต้อลมที่ขยายตัวใหญ่และหนาขึ้น จนลามเข้าไปในกระจกตาดำ มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมซึ่งมี
    ฐานอยู่ที่ตาขาว และยอดแหลมยื่นเข้าไปในกระจกตาดำ อาจเกิดได้ทั้งด้านหัวตาและหางตา
    แต่มักพบได้บ่อยบริเวณด้านหัวตา

สาเหตุ

หลักฐานทางการแพทย์ระบุว่า เกิดจากดวงตาถูกรังสีอัลตราไวโอเลต (รังสียูวี) ในแสงแดดอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายปี ทำให้เซลล์เยื่อบุตาขาวสร้างสารประเภทโปรตีนและไขมันมากกว่าปกติ จนเกิดเป็นก้อนหรือแผ่นหนาบนเยื่อบุตาขาวข้างกระจกตาดำ เนื่องจากประเทศไทยมีแสงแดดจัดตลอดทั้งปี ดังนั้น จึงพบผู้ที่เป็นต้อลมได้บ่อยมาก

อาการ

ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ แต่ถ้ามีอาการต้อลมอักเสบ ตาจะแดงช้ำในบริเวณรอบต้อ และรู้สึกระคายเคืองเหมือนมีผงเข้าตา ทั้งนี้ ต้อลมและต้อเนื้อ ไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็ง แต่จะทำให้ตาเกิดการอักเสบได้มากกว่าปกติ ควรป้องกันไม่ให้ต้อลมอักเสบบ่อย เพราะจะทำให้กลายเป็นต้อเนื้อที่มีเนื้อเยื่อลามเข้าไปบังที่จุดศูนย์กลางของกระจกตาดำทำให้ตามัวลงจนมองเห็นไม่ชัด

การป้องกัน

ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ดวงตาถูกแสงแดด ลม ฝุ่นละอองและควัน  ควรสวมแว่นกันแดดเมื่อออกไปเผชิญแสงแดดจัดในที่กลางแจ้ง โดยเลนส์ของแว่นกันแดดที่มีคุณภาพ ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. เคลือบสารที่มีประสิทธิภาพสูงในการกรองแสงรังสีอัลตราไวโอเลต (รังสียูวี)
    สารเคลือบดังกล่าวใสไม่มีสี สามารถเคลือบกับเลนส์แว่นตาได้ทุกชนิด
2. สามารถลดความจ้าของแสงแดดลงได้ ซึ่งความเข้มและสีของเลนส์ จะช่วยลดความสว่างเพื่อให้รู้สึกสบายตาขึ้น
    ดังนั้น ควรเลือกสีและความเข้มตามความพอใจของผู้ใช้ หากจะให้การป้องกันสมบูรณ์ขึ้นก็ควรสวมหมวกปีกกว้าง
    เพราะแว่นตาไม่สามารถกันแสงแดดจากด้านข้างได้
3. สำหรับผู้อยู่ในงานอุตสาหกรรมที่มีการเชื่อมโลหะ ซึ่งได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต (รังสียูวี) ในระดับสูงมาก
    ควรสวมแว่นตากรองรังสีตลอดเวลา และควรใช้หน้ากากพิเศษกรองรังสีขณะปฏิบัติงานด้วยทุกครั้ง

การรักษา

กรณีที่ต้อยังมีขนาดเล็ก หากดูแลดีจะช่วยไม่ให้เกิดอาการผิดปกติ ควรพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้ต้ออักเสบ โดยการใส่แว่นตาเพื่อป้องกันแสงแดด ลม ฝุ่น ควัน ไม่นอนดึกเกินไป ลดการดื่มสุรา และหลับตาเพื่อพักสายตาเป็นระยะๆ หรือมองไกล ประมาณ 2-3 นาที ในทุกๆ ชั่วโมง ที่อ่านหนังสือหรือทำงานที่ต้องจ้องมองวัตถุในระยะใกล้ การปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยให้สบายตาขึ้น

หากต้ออักเสบ ควรใช้ยาหยอดตาตามแพทย์สั่ง เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ แต่ถ้าตาไม่แดง คัน ระคายเคือง ก็ไม่ควรหยอดตา เพราะยาจะช่วยลดอาการอักเสบเท่านั้น ไม่ได้ทำให้ต้อหายไป
ต้อลมหรือต้อเนื้อขนาดเล็กไม่มีอันตรายต่อดวงตา ถ้าดูแลรักษาให้ดี หลีกเลี่ยงไม่ให้ต้ออักเสบ ก็จะไม่มีผลเสียต่อบุคลิกภาพ ดังนั้น การผ่าตัดเพื่อเอาต้อออกจึงไม่จำเป็น ส่วนต้อเนื้อที่มีขนาดใหญ่และอักเสบบ่อยจนเห็นได้ชัด จักษุแพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดลอกต้อเนื้อออก

การลอกต้อเนื้อ

สามารถใช้ยาชาในการทำการลอกต้อเนื้อได้  โดยไม่ต้องดมยาสลบ และผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนพักรักษาในโรงพยาบาล การลอกต้อเนื้อมี 3 แบบ คือ

1. ลอกต้อเนื้อ แบบไม่ปลูกเนื้อเยื่อ

จักษุแพทย์จะลอกต้อเนื้อออก แล้วทิ้งบริเวณที่ลอกไว้ให้เนื้อเยื่องอกกลับมาคลุมส่วนที่ลอกออกไปเอง เป็นวิธีการผ่าตัดที่ใช้เวลาน้อย แต่มีโอกาสสูงที่จะเกิดการงอกใหม่ของต้อเนื้อได้

2. ลอกต้อเนื้อ แบบปลูกเนื้อเยื่อ โดยใช้เยื่อบุตาขาว

จักษุแพทย์จะลอกต้อเนื้อออก แล้วจะเลาะเอาเยื่อบุตาขาวส่วนที่อยู่ใต้เปลือกตาบนมาปะเพื่อปลูกเนื้อเยื่อในบริเวณที่ต้อถูกลอกออกไป การผ่าตัดวิธีนี้ ลดโอกาสการงอกใหม่ของต้อเนื้อได้มาก จากเดิม 40 - 50 % ลดเหลือเพียง 5 - 10 % ซึ่งโรงพยาบาลจักษุ รัตนิน เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่เริ่มรักษาต้อเนื้อด้วยวิธีนี้

3. ลอกต้อเนื้อ แบบปลูกเนื้อเยื่อ โดยใช้เยื่อรก

จะใช้ในกรณีที่ไม่สามารถใช้เยื่อบุตาขาวได้ เช่น เยื่อบุตามีแผลเป็นมาก หรือเป็นต้อหินจำเป็นต้องเก็บเยื่อบุตาขาวไว้เพื่อการผ่าตัดต้อหินในอนาคต

การดูแลหลังผ่าตัดลอกต้อเนื้อ

1. งดน้ำเข้าตาเป็นเวลา 7 - 10วัน
2. งดขยี้ตาเป็นเวลา 2 สัปดาห์
3. จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง แสงแดด ลม ฝุ่น และควัน เพื่อป้องกันการเป็นซ้ำของต้อเนื้อ